ประเภทของสายไฟมีกี่แบบ ใช้งานแตกต่างกันอย่างไ

เป็นที่ทราบดีว่าสายไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบพื้นฐานในระบบไฟฟ้าของที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม สายไฟมีให้เลือกมากมาย โดยแต่ละชนิดถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในสภาพแวดล้อมเฉพาะที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การเดินสายไฟในครัวเรือนธรรมดาไปจนถึงการจ่ายพลังงานในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน

การทำความเข้าใจคุณลักษณะและการใช้สายไฟต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ช่วยทำให้มั่นใจในความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือในการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับช่างไฟ วันนี้เราจึงจะพาทุกท่านมารู้จักกับประเภทของสายไฟฟ้ากันว่าแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและการใช้งานที่แตกต่างกันอย่างไร

ส่วนประกอบของสายไฟฟ้า มีอะไรบ้าง

  • ตัวนำไฟฟ้า (Conductor) โดยทั่วไปแล้วมักทำจากทองแดงหรืออะลูมิเนียม ตัวนำคือแกนกลางของเส้นลวด สามารถนำกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความนำไฟฟ้าและความยืดหยุ่นที่ดีเยี่ยม
  • ฉนวน (Insulation) ฉนวนรอบ ๆ ตัวนำทำจากวัสดุ เช่น พีวีซี หรือ เทอร์โมพลาสติก สามารถป้องกันไฟฟ้ารั่ว ป้องกันการลัดวงจร และความเสียหายภายนอก
  • เปลือกหุ้ม (Sheath) ส่วนนี้มักทำจากพลาสติกโพลิเมอร์เพื่อป้องกันปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ความชื้น สารเคมี และการเสียดสีทางกายภาพ

สายไฟมีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติและวิธีใช้งานอย่างไร

หลายท่านอาจสงสัยว่าสายไฟที่หน้าตาคล้ายคลึงกันเหล่านี้ แท้จริงแล้วมีกี่ประเภทและแต่ละชนิดใช้งานแตกต่างกันอย่างไร ก่อนอื่นเรามาความเข้าใจเสียก่อนว่าชนิดของสายไฟสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทตามอัตราแรงดันไฟฟ้า ได้แก่ สายไฟแรงดันต่ำ และ สายไฟแรงดันสูง และต่อไปนี้เป็นภาพรวมของสายไฟแต่ละประเภท โดยเน้นให้เห็นความแตกต่างกันคุณลักษณะและการเลือกใช้งาน

สายไฟแรงดันต่ำ (Low Voltage Power Cable) โดยทั่วไปแล้วสายไฟแรงดันต่ำใช้สำหรับการเดินไฟในที่อยู่อาศัยและสถานประกอบกิจการซึ่งมีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 750V

1.สายไฟ THW

  • ระดับแรงดันไฟฟ้า: สูงถึง 750V
  • คุณสมบัติ: สายไฟ THW หุ้มด้วยวัสดุเทอร์โมพลาสติกที่ทนทานต่อความร้อนและน้ำ ทนอุณหภูมิสูงถึง 75°C ในสถานที่แห้ง และ 60°C ในสถานที่ชื้น
  • การใช้งาน: มีความยืดหยุ่นและติดตั้งง่าย ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานในที่พักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม การเดินสายไฟในอาคาร เหมาะกับการติดตั้งท่อร้อยสายวงจร 3 เฟส ไม่เหมาะสำหรับการฝังดินโดยตรง

2.สายไฟ VAF

  • ระดับแรงดันไฟฟ้า: สูงสุด 300V
  • คุณสมบัติ: สายไฟ VAF มีโครงแบบแบนพร้อมตัวนำหุ้มด้วยฉนวน PVC มีความยืดหยุ่นและง่ายต่อการติดตั้ง โดยทั่วไปจะใช้สำหรับงานไฟฟ้าแรงต่ำและมีคุณสมบัติเป็นฉนวนที่ดี
  • การใช้งาน: การเดินสายไฟในที่ครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินไฟส่องสว่างภายในอาคารและเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เหมาะสำหรับติดตั้งในทั้งบริเวณที่แห้งและชื้น แต่ไม่เหมาะกับการฝังดิน การใช้งานกลางแจ้ง  และการติดตั้งแบบ 3 เฟส

3.สายไฟ VCT

  • ระดับแรงดันไฟฟ้า: สูงถึง 750V
  • คุณสมบัติ: สายไฟ VCT ประกอบด้วยตัวนำทองแดงบิดเกลียวพร้อมเคลือบไวนิล มีความยืดหยุ่นและทนทานสูง ฉนวนกันความชื้นและสารเคมีได้ดี
  • การใช้งาน: สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนและต่อลงดินได้ มักใช้ในอุตสาหกรรมสำหรับการเชื่อมต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงการใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องต่อสายไฟลงดิน

4.สายไฟชนิด NYY

  • ระดับแรงดันไฟฟ้า: สูงถึง 750V
  • คุณสมบัติ: สายไฟ NYY มีฉนวน PVC และมักจะไม่มีการหุ้มฉนวน ถูกออกแบบมาสำหรับการติดตั้งไฟฟ้าแรงดันต่ำ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดีจึงสามารถฝังลงดินได้
  • การใช้งาน: นิยมใช้สำหรับงานใต้ดินและกลางแจ้งเนื่องจากมีฉนวนที่แข็งแรง เหมาะสำหรับติดตั้งในท่อร้อยสายและฝังดินโดยตรง

สายไฟแรงดันสูง (High Voltage Power Cable) ถูกออกแบบมาเพื่อส่งกระแสไฟที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงกว่า 1,000V ในระยะทางไกล สายไฟเหล่านี้มีความสำคัญต่อการขนส่งพลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลจากโรงงานผลิตไฟฟ้าไปยังสถานีย่อยและกระจายไปยังเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

1.สายไฟ AAC

  • คุณสมบัติ: ทำจากอะลูมิเนียมทั้งชิ้น ทำให้มีน้ำหนักเบาและติดตั้งง่าย สามารถนำไฟฟ้าได้ดีแต่มีความต้านทานแรงดึงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสายไฟแรงดันสูงชนิดอื่น ๆ ทนทานต่อการกัดกร่อนและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  • การใช้งาน: ผลิตตามมาตรฐาน มอก.85-2548 ใช้ในการแขวนติดตั้งลอยบนเสาไฟฟ้า เหมาะใช้งานระยะทางสั้นถึงปานกลาง ประมาณ 50 – 100 เมตร

2.สายไฟ AAAC

  • คุณสมบัติ: ผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอยด์ มีความต้านทานแรงดึงสูงกว่าอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ คงสภาพการนำไฟฟ้าและทนทานการกัดกร่อนได้ดีเยี่ยม ดังนั้นจึงมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับสายไฟ AAC
  • การใช้งาน: เหมาะกับการเดินสายส่งไฟฟ้ากำลังสูงซึ่งมีระยะทางไกลกว่า AAC

3.สายไฟ ACSR

  • คุณสมบัติ: วัสดุทำมาจากแกนเหล็กเส้นล้อมรอบด้วยอลูมิเนียม ซึ่งเป็นการผสานการนำไฟฟ้าของอลูมิเนียมเข้ากับความต้านทานแรงดึงสูงของเหล็ก ทำให้ทนทานต่อการกัดกร่อนและสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงดันสูง
  • การใช้งาน: นิยมใช้ในการส่งและจ่ายพลังงานในระยะทางไกล เหมาะใช้งานเดินลอยในอากาศบนเสาไฟที่ต้องการความแข็งแกร่งและทนทาน อีกทั้งยังสามารถใช้งานในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศแปรปรวนได้

4.สายไฟ PIC

  • คุณสมบัติ: เนื่องจากฉนวนถูกหุ้มด้วยพลาสติกพีวีซี จึงทำให้มีคุณสมบัติเป็นฉนวนที่ดีเยี่ยมและทนทานต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาและง่ายต่อการใช้งาน
  • การใช้งาน: นิยมใช้ในเครือข่ายโทรคมนาคมและการส่งข้อมูล เหมาะกับการใช้งานทั้งในร่ม กลางแจ้ง และฝังลงดิน

การเลือกใช้สายไฟให้เหมาะสม ดูอะไรบ้าง

เมื่อได้รู้จักประเภทของสายไฟชนิดต่าง ๆ แล้วสิ่งสำคัญที่เหล่าช่างไฟต้องทราบ คือ วิธีเลือกใช้สายไฟที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยจะต้องประเมินปัจจัยสำคัญหลายประการเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และอายุการใช้งาน สิ่งที่ควรพิจารณามีดังนี้

  • แรงดันและกระแสไฟฟ้า ตรวจสอบแรงดันและกระแสไฟฟ้าเพื่อให้แน่ใจว่าสายไฟที่เลือกใช้สามารถรองรับการใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา
  • สภาพแวดล้อม พิจารณาปัจจัยด้านแวดล้อมโดยรอบ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น สารเคมี เพื่อเลือกใช้สายไฟที่มีฉนวนหรือเปลือกหุ้มเฉพาะเพื่อป้องกัน
  • เงื่อนไขการติดตั้ง ต้องตรวจสอบและวางแผนการเดินสายไฟเพื่อพิจารณาว่าจะใช้สายไฟสำหรับในอาคาร กลางแจ้ง ใต้ดินหรือท่อร้อยสายเพราะสายไฟแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน

สรุป

สายไฟมีหลากหลายประเภทและใช้งานแตกต่างกันออกไป การเลือกสายไฟที่เหมาะสมจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ในการเลือกใช้สายไฟให้เหมาะสมยังต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น แรงดันและกระแสไฟฟ้า สภาพแวดล้อม วิธีการติดตั้ง และมาตรฐานความปลอดภัย

สำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจระบบไฟฟ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น TNS Training Center มีหลักสูตรไฟฟ้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การปูพื้นฐานไปตลอดจนการเลือกใช้สายไฟ เทคนิคการติดตั้ง และมาตรฐานความปลอดภัย หลังจากจบหลักสูตรท่านสามารถมั่นใจได้ว่าจะสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าเองได้อย่างปลอดภัย หากมีความสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 064-956-5866 หรือ แอดไลน์ @tnstraining